หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจําบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชํานาญ

ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขานิติเวชศาสตร์

(Residency training in Forensic Medicine)

นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine) เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และการนำเอาวิชาแพทย์ทุกสาขาไปประยุกต์เพื่อประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ จำต้องอาศัยองค์ความรู้เรื่องการตายต่าง ๆ ที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งการตายโดยธรรมชาติแบบกะทันหันและไม่คาดคิด และอาจต้องทำการผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการตาย ทำการตรวจทางนิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology) จุลพยาธิวิทยา (Histopathology) ร่วมกับการไปตรวจศพ ณ สถานที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลมาประกอบในการพิเคราะห์พฤติการณ์การตายว่า การตายที่ผิดธรรมชาตินั้นเป็นการตายจากอุบัติเหตุ อัตวินิบาตกรรม หรือถูกฆาตกรรมคือถูกผู้อื่นฆ่าได้ รวมถึงการพิสูจน์ตัวบุคคลโดยตรวจศพและชิ้นส่วนของศพ ประมาณเวลาว่าศพที่ตรวจนั้นตายมานานแล้วเท่าไร โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังตาย
นอกเหนือไปจากกรณีการตายแล้วนั้น งานด้านนิติเวชคลินิก (Clinical Forensic Medicine) ก็เป็นขอบข่ายงานหนึ่งที่แพทย์นิติเวชต้องทำการตรวจผู้ป่วยคดีอันได้แก่ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย(attempted suicide) ผู้ที่ถูกหรือสงสัยว่าถูกคนหรือสัตว์ทำร้าย (homicide/ animal bite) ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ (traffic accident) ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและผู้ที่ได้รับการทำแท้ง (sexual assault/ illegal abortion) ผู้ที่พนักงานสอบสวนส่งมาขอให้ตรวจร่างกายหรือตรวจหาสารพิษ สารเสพติด หรือระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย อันเนื่องมาจากเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา เพื่อให้ความเห็นทางการแพทย์ อันนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองบัญชาการตำรวจภูธรทั่วประเทศไทย ในการนำเอาความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ผสมผสานกับงานทางด้านสืบสวนสอบสวน เพื่อใช้ในการคลี่คลายคดีสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งคดีอุฉกรรจ์และคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ และเป็นผู้นำด้านการจัดการสถานการณ์กรณีอุบัติภัยหมู่ ทางสถาบันนิติเวชวิทยานั้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่โดยตรงทางนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทย มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลและวัตถุดิบที่จำเป็นในการอบรมให้ความรู้กับนักศึกษาหรือผู้มีวิชาชีพเกี่ยวข้องกับกฎหมายและการแพทย์ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่สนใจในกิจการและความก้าวหน้าของวิทยาการทางนิติเวชศาสตร์ มีห้องปฎิบัติการอันทันสมัย สามารถรองรับงานที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความก้าวหน้าทางยาและสารเคมีใหม่ๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ สถาบันนิติเวชวิทยายังมีการทำโครงงานวิจัยโดยบุคลากรภายในหน่วยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเข้าร่วมเครือข่ายงานทางด้านนิติเวชศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับของงานทางด้านนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

พันธกิจของหลักสูตร
สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้กำหนดพันธกิจด้านการศึกษาของหลักสูตร คือ
1) ผลิตแพทย์นิติเวชที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถตามมาตรฐานแพทย์นิติเวช
2) ทำงานแบบมืออาชีพ มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม
3) ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม ความปลอดภัย โดยยึดหลักความยุติธรรมและหลักวิชาการเป็นที่ตั้ง
4) เตรียมพร้อมเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการคิดค้นนวัตกรรม หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางระบบมาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์

ในการอบรมหลักสูตรนิติเวชศาสตร์ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ต้องการให้บัณฑิตมีองค์ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความรู้ทางนิติเวชศาสตร์ ทักษะการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งมีทักษะในการผ่าชันสูตรศพ ตรวจศพ ณ สถานที่เกิดเหตุ รวมถึงการตรวจผู้ป่วยคดีและให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม คำนึงถึงความปลอดภัย มีความรับผิดชอบและมีเจตคติที่ดีในการให้บริการบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และมีเจตคติที่ดีในการให้บริการผู้ป่วยคดี รวมถึงคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลผู้ป่วยคดีแบบองค์รวม
ทั้งนี้ในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรศพและผู้ป่วยคดี ทางนิติเวชศาสตร์นั้น จำต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเฉพาะทางที่กว้างขวางและลึกซึ้ง อีกทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้ความเห็น รวมถึงข้อแนะนำต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งต่อผู้ป่วย พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน พนักงานอัยการ เป็นต้น รวมถึงการมีทักษะในการสื่อสารเพื่อทำงานเป็นทีม และการปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ(กรณีผู้ป่วยคดี) อีกด้วย
ในปัจจุบันอาชญากรรมมีการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสารพิษ สารเสพติด ยาชนิดต่างๆ รวมถึงข้อมูลต่างๆสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทำให้อาชญากรรมและการตายนั้นมีความซับซ้อน กระบวนงานและเทคโนโลยีทางนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน และมีความต้องการแพทย์นิติเวชมากขึ้น เพื่อรองรับต่องานที่เพิ่มให้ทั่วทุกภูมิภาค บัณฑิตที่ผ่านการฝึกอบรมจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ กระบวนการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยในการดูและผู้ป่วยคดี อีกทั้งต้องเรียนรู้ติดตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามสภาวะสังคม เพื่อสามารถนำความเห็นทางนิติเวชศาสตร์มาใช้ในการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ จึงใช้หลักการที่ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลาง มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อให้มีการพัฒนาการเรียนการสอน และการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมแพทย์นิติเวช และราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย

ผลลัพธ์ของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

แพทย์ประจำบ้านที่สำเร็จการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขานิติเวชศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน ดังต่อไปนี้

1) การดูแลผู้ป่วยและทักษะทางหัตถการ (Patient Care and procedural skill)
  1. มีทักษะในการตรวจผู้ป่วยนิติเวชคลินิก และบันทึกหลักฐานทางการแพทย์ ตลอดจนสามารถเขียนรายงานการตรวจ การให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้ป่วยคดีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม สำหรับกรณีที่มีความซับซ้อนเกินความรู้ความสามารถของตนก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอื่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยปฏิบัติงานภายใต้ศูนย์พึ่งได้และงานชันสูตรผู้ป่วยคดี รพ.ตำรวจ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ สูตินารีแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะให้การดูแลผู้ป่วยทางนิติเวชคลินิกแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  2. มีทักษะในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนได้ทุกกรณีพร้อมทั้งจัดทำบันทึกแนบท้ายการชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่เกิดเหตุได้ และสามารถทำการผ่าศพที่ตายหรือสงสัยว่า ตายโดยผิดธรรมชาติเพื่อตรวจวินิจฉัยทางนิติเวชศาสตร์ทั้งโดยวิธีตรวจด้วยตาเปล่า และวิธีตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ร่วมกับวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ที่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุการตาย ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถเขียนรายงานการตรวจต่างๆ ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและสมบูรณ์
  3. มีทักษะในการเก็บหลักฐานทางคดีและตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมและเข้าใจการตรวจวิเคราะห์ รวมทั้งแปลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง
  4. ให้คำปรึกษาทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  5. สามารถทำหัตถการทางนิติเวชศาสตร์ (procedural skill) ได้แก่ การตรวจศพและการตรวจชิ้นเนื้อได้อย่างถูกต้อง
  6. สามารถให้ข้อมูลทางนิติเวชศาสตร์ต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้อย่างถูกต้อง
2) ความรู้ (Medical Knowledge)
  1. มีความรู้ความสามารถรอบด้านทั้งทางนิติเวชศาสตร์ ความรู้และวิทยาการใหม่ๆทางนิติวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์ วิทยาการระบาด พฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งกฎหมาย และนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรม
  2. มีความรู้พยาธิกำเนิด พยาธิสรีระ เทคนิคการตรวจวินิจฉัยและบอกปัจจัยที่มีผลต่อสาเหตุการตาย
  3. มีความรู้เกี่ยวกับในการดูแลสิ่งส่งตรวจทั้งระยะก่อนวิเคราะห์ ระยะวิเคราะห์และระยะหลังวิเคราะห์
  4. มีความรู้ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ และการแปลผล
  5. มีความรู้และสามารถวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยชนิดต่างๆ รวมทั้งอาชญากรรมเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิตประเภทต่างๆ ตลอดจนปัญหาของอุบัติการณ์ อัตวินิบาตกรรมด้วย
3) การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Practice-based learning & improvement)
  1. เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
  2. ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
  3. วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางนิติเวชศาสตร์ได้
  4. มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
4) ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
  1. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วยคดี/ผู้ตาย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ถ่ายทอดความรู้และทักษะ ให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพนักงานสอบสวนและนักกฎหมาย
  3. สื่อสารให้ ข้อมูลแก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตาเคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านนิติเวชศาสตร์แก่แพทย์และบุคคลากรอื่น
 5) ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
  1. มีเจตคติ คุณธรรม และมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ญาติผู้ตาย และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงผู้ร่วมงานทุกคน
  2. มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (Non-technical skills) และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม
  3. มีความสนใจใฝ่ รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (continuous professional development)
  4. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
  5. คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
 6) การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
  1. สามารถอธิบายขอบเขตการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์ทุกประเภท ในการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหาสาธารณสุขของชุมชน
  2. เข้าใจโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมของประเทศและสามารถอธิบายบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคม
  3. ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและเหมาะสม และสามารถปฏิบัติงานทางนิติเวชศาสตร์ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพเพื่อให้เข้ากับระบบกฎหมาย
  4. มีความรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์
  5. มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความผิดพลาดของระบบงาน และร่วมหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน

แผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

1)  วิธีการให้การฝึกอบรม

1.1   สมรรถนะการดูแลผู้ป่วยและทักษะทางหัตถการ (Patient Care and procedural skill)

จัดตารางการฝึกอบรมได้ตามความเหมาะสมของแต่ละสถาบัน โดยมีการมอบหมายให้ผู้รับการฝึกอบรม มีความรับผิดชอบต่างๆ ในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมดังต่อไปนี้

  1. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ ๑ เรียนรู้เกี่ยวกับนิติเวชคลินิก นิติพยาธิ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวช ได้แก่ การตรวจผู้ป่วยคดี การชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ การตรวจผ่าศพ
  2. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ ๒ ดำเนินการตรวจผู้ป่วยนิติเวชคลินิก การชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ การตรวจผ่าศพ การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวช ภายใต้กำกับของอาจารย์แพทย์และหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน
  3. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ ๓ ดำเนินการตรวจผู้ป่วยนิติเวชคลินิกและให้คำปรึกษาทางนิติเวชคลินิก การตรวจศพ ชิ้นส่วนของศพและโครงกระดูก และช่วยสอนนักศึกษาแพทย์ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที๑และ๒ รวมทั้งให้ความเห็นทางนิติเวชได้ด้วยตนเองโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา
  4. แพทย์ประจำบ้านต้องทำรายงานการตรวจผู้ป่วยนิติเวชคลินิกไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ราย
  5. แพทย์ประจำบ้านต้องชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่เกิดเหตุ อย่างน้อย ๕๐ ราย
  6. แพทย์ประจำบ้านต้องผ่าตรวจศพและการตรวจชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์ไม่น้อยกว่า ๕๐ ราย พร้อมรายงานการตรวจศพที่สมบูรณ์

1.2  ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนาไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)

  1. เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ (Correlated basic medical science)
  2. เรียนและปฏิบัติงานในสาขาวิชาเฉพาะทางต่างๆของนิติเวชศาสตร์
  3. แพทย์ประจำบ้าน เข้าร่วมในกิจกรรมทางวิชาการ เช่น interesting case, journal club เป็นต้น
  4. แพทย์ประจำบ้าน ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์

1.3  การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based Learning and Improvement) จัดให้แพทย์ประจำบ้าน

  1. มีประสบการณ์การเรียนรู้ในทางนิติเวชศาสตร์เพื่อการปฏิบัติงานแบบองค์รวม และสหวิชาชีพ
  2. ปฏิบัติงานสอนนิสิต/นักศึกษาแพทย์ หรือนักศึกษาสาขาอื่น (ถ้ามี) หรือแพทย์ประจำบ้านรุ่นหลังได้
  3. บันทึกข้อมูลทางนิติเวชในระบบเวชระเบียนผู้ป่วยและในรายงานผลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
  4. ต้องทำงานวิจัยทางนิติเวชศาตร์ โดยเป็นผู้วิจัยหลัก และผลงานนั้นต้องตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับ
  5. ต้องนำเสนอและวิพากษ์งานวิจัยทางการแพทย์ในที่ประชุม

1.4  ทักษะปฏิสัมพันธ์และการสื่อสาร(Interpersonal  and  Communication  Skills) จัดให้แพทย์ประจำบ้าน

  1. เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร
  2. ปฏิบัติงานสอนนิสิต/นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านรุ่นหลัง
  3. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย/ผู้ตาย และอภิปรายปัญหาในกิจกรรมวิชาการได้ เช่น case conference

1.5  ความเป็นมืออาชีพ  (Professionalism) จัดให้แพทย์ประจำบ้าน

  1. เข้าร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ทางด้านบูรณาการทางการแพทย์
  2. พัฒนาตนเองให้มีเจตคติที่ดีระหว่างการปฏิบัติงานทางนิติเวชศาสตร์และมี non-technical skills ที่เหมาะสม
  3. มีการเรียนรู้ด้านจริยธรรมทางการแพทย์และสิทธิผู้ป่วย/ญาติผู้ตาย

1.6  การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)

จัดให้แพทย์ประจำบ้านมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับโดรงสร้างระบบสาธารณสุขของชาติ ระบบยุติธรรมของประเทศ ระบบคุณภาพของโรงพยาบาล crisis resource management รวมทั้งกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ

2)  เนื้อหาของการฝึกอบรม/หลักสูตร

                             2.1  ความรู้พื้นฐานทางพยาธิวิทยา

                             2.2  ความรู้และทักษะทางนิติเวชศาสตร์ ประกอบด้วย

ก. การชันสูตรศพ ณ สถานที่พบศพ(เกิดเหตุ)

ข. การตรวจทางนิติพยาธิวิทยา

ค. การตรวจผู้ป่วยนิติเวชคลินิก

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ และการแปลผล

จ. กฎหมายทางการแพทย์และจริยธรรมทางการแพทย์

3)  การทําวิจัย

เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้โดยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ และเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีพื้นฐานในการทางวิจัยและวิเคราะห์ทางสถิติทางการแพทย์ รวมทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดการศึกษาค้นคว้าในอนาคตด้วยตนเอง ซึ่งแพทย์ประจําบ้าน นิติเวชศาสตร์ต้องบรรลุตามหลักสูตรฯ แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิจัยอย่างน้อย 1 เรื่อง ในระหว่างการปฏิบัติงาน 3 ปี โดยอาจเป็นผู้วิจัยหลัก/ร่วม รายละเอียดใน ภาคผนวกที่ 5

4)  การเรียนรู้ทางด้านบูรณาการ

ก. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

  1. การสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์, ผู้ร่วมงาน, ผู้ป่วย ญาติ ผู้ป่วย และญาติผู้ตาย
  2.   การบอกข่าวร้าย
  3.   ปัจจัยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ญาติผู้ตาย
  4. การบริหารจัดการสถานการณ์ที่ยากลําบากในการปฏิบัติงาน
  5. การตระหนักรู้พื้นฐานความเชื่อทางสุขภาพและความตายที่ต่างกัน

  ข. ความเป็นมืออาชีพ

  1.  การบริบาลโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง patient-centered care
  • การยึดถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก
  • การรักษาความน่าเชื่อถือแก่ ผู้ป่วย สังคม โดยการรักษามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด
  • การให้เกียรติและยอมรับเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วย และญาติ
  • ความสามารถปรับตนเองให้เข้ากับสภาวะหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้ก่อน
  1. การตรวจชันสูตรศพ
  • ด้วยความเคารพผู้ตาย
  • ให้เกียรติและยอมรับเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อนร่วมงาน ญาติผู้ตาย
  1. พฤตินิสัย
  • ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ และมีวินัย
  • การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
  1. จริยธรรมการแพทย์

การหลีกเลี่ยงการรับผลประโยชน์ส่วนตัวในทุกกรณีการนับถือให้เกียรติ สิทธิ และรับฟังความเห็นของผู้ป่วย  ในกรณีผู้ป่วยไม่เห็นด้วยกับการตรวจวินิจฉัยหรือ ปฏิเสธการตรวจวินิจฉัย  กรณีญาติและผู้ป่วยร้องขอตามสิทธิผู้ป่วย

  • การรักษาความลับและการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยและผู้ตาย
  • การประเมินขีดความสามารถ และยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง
  1. การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
  • การกําหนดความต้องการในการเรียนรู้ของตนเอง
  • การค้นคว้าความรู้ และประเมินความน่าเชื่อถือได้ด้วยตนเอง
  • การประยุกต์ความรู้ที่ค้นคว้ากับปัญหาทางคดีได้อย่างเหมาะสม
  • การวิเคราะห์และวิจารณ์บทความทางวิชาการ
  • การเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการอย่างสมํ่าเสมอ
  • การใช้  electronic databases และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้
  • การถ่ายทอดความรู้แก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต นักศึกษา ผู้ป่วยและ ญาติ รวมทั้งพนักงานสอบสวนและนักกฎหมาย

ค. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ 

  1. ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพและการพัฒนาสาธารณสุขของชาติ
  2. ความรู้เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพ เช่น ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เป็นต้น ความรู้เกี่ยวกับการประกัน คุณภาพ และกระบวนการ hospital accreditation การประเมินประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลของการดูแลรักษา
  3. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวของทางการแพทย์และสาธารณสุข

ง. การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

  1. การร่วมชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพแบบทีมสหวิชาชีพ
  2. การร่วมดูแลรักษาผู้ป่วยคดีแบบทีมสหวิชาชีพ
  3. ทักษะและจริยธรรมในการวิจัย
  4. การใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการและทรัพยากรอย่างสมเหตุผล
  5. การบันทึก portfolio
  6. การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล
  7. การเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรค
  8. การมีส่วนร่วมในองค์กร เช่น ภาควิชา/แผนก/กลุ่มงาน โรงพยาบาล/สถาบัน ราชวิทยาลัย เป็นต้น
3. จํานวนปีของการฝึกอบรม 3 ปี

 >>> หลักสูตรและเกณฑ์ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสถาบันนิติ <<<

>>>  รายละเอียดการสมัครหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจําบ้านเพิ่มเติม  <<<

 >>> ศูนย์พึ่งได้ รพ.ตำรวจ <<<

รายชื่อแพทย์ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน

รายชื่อแพทย์ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชศาสตร์ สถาบันนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2559
ร.ต.ต.ณัฐวุฒิ โยธินอุปไมย

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2560
ร.ต.ต.ณัฐพงศ์ กิตติโสภณพันธุ์

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2561

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2562

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2563

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2564
นายเด่นพล มาแสง
นายมนตรี แซ่หวู

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ปี 2565

นายณฐกานต์ เสาวภา

 

รายชื่อแพทย์ประจำบ้าน ผู้เข้าอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชศาสตร์ สถาบันนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ

นายอิทธิพัฒน์ ปิยะจิตติ
นายสยาม สังข์ประเสริฐ
นายวิสัยทัศน์ รัตนวนิช
นางสาวญดา พงษ์สิงห์จันทร์