วิชานิติเวชศาสตร์ มีสอนครั้งแรกในหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย

โดยพบหลักฐานว่ามีการสอนในชั้นปีที่ 4 ในปีพ.ศ.2456 เข้าใจว่าพระยาดำรงแพทยาคุณ(ชื่นพุทธิแพทย์ พ.ศ.2424 – 2496) เป็นอาจารย์ผู้สอนท่านแรก และท่านผู้นี้เป็นผู้บัญญัติศัพท์ “นิติเวชวิทยา” ด้วย ส่วนวิชา “พิษวิทยา” (toxicology) นั้นปรากฏว่ามีการสอนตั้งแต่ปีพ.ศ.2446 ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตร์เพื่อให้เข้ามาตรฐานขั้น ปริญญาในปีพ.ศ.2464 ด้วยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) วิชาทั้งสองดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรปริญญาเวชบัณฑิต คงมีหลักฐานปรากฏเพียงว่าพระยาดำรงฯ สอนวิชานี้อยู่จนถึงปี พ.ศ. 2470

บุคคลที่เป็นผู้บุกเบิกให้วิชานิติเวชศาสตร์ ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประ-เทศไทย และสมควรที่จะได้รับเกียรติให้เป็นบิดาแห่งวิชานิติศาสตร์ของประเทศไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน (พ.ศ.2455 – 2513)  อดีตหัวหน้าภาควิชานิติเวชวิทยา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นภาควิชานิติเวชศาสตร์) แห่งคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) ท่านผู้นี้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ.2477 (แพทย์ปริญญารุ่น 7) และเป็นแพทย์ประจำบ้านในแผนกสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอยู่หนึ่งปี ก็ออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ (แผนกแพทย์กองกลาง) อยู่หนึ่งปี และได้ลาออกจากกรมตำรวจเนื่องจากได้รับทุนของมูลนิธิอะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดท์ (Alexander von Humboldt) ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ในปีพ.ศ.2481 และได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Dr. med.) จากมหาวิทยาลัยฮัมเบอร์กในปีพ.ศ.2483 ต่อจากนั้นก็ได้ฝึกอบรมและดูงานทางนิติเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอร์ลินอีกระ ยะหนึ่งก่อนกลับประเทศไทย

เมื่อกลับมาก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ในปีพ.ศ.2484 ได้รับมอบหมายให้สอนในวิชาปาราสิตวิทยา ขณะเดียวกันอาจารย์สงกรานต์ได้พยายามชักจูงให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราช พยาบาล เห็นความสำคัญของวิชานิติเวชศาสตร์ เพื่อให้มีการสอนวิชานี้อยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต จนกระทั่งปีพ.ศ. 2487 อาจารย์สงกรานต์ ก็ได้รับอนุญาตให้ทำการสอน “นิติเวชวิทยา” แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 3 (แต่ไม่มีการสอบเพราะเป็นการเรียนนอกหลักสูตร) นับได้ว่ารุ่นนี้เป็นแพทย์ปริญญารุ่นแรกที่ได้เรียน “นิติเวชวิทยา” และนับได้ว่าเป็นก้าวแรกที่อาจารย์สงกรานต์ ได้ประสบความสำเร็จในการวางรากฐานของวิชานี้ ในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2489 ได้เกิดเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และประวัติของนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือกรณีสวรรคตของพระ-บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเมื่อมีการตั้งกรรมการแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ อาจารย์สงกรานต์ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ในฐานะพยาธิแพทย์และผู้ชำนาญวิชานิติเวชศาสตร์ร่วมกับนายแพทย์ผู้ใหญ่อื่นๆ อีกหลายท่าน และท่านได้ร่วมกับนายแพทย์สุด แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน ทำการผ่าพิสูจน์พระบรมศพ และเพื่อให้มีการพิสูจน์ที่กระจ่างชัด อาจารย์สงกรานต์จึงได้เสนอแผนการทดลองยิงศพต่อคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพ และคณะกรรมการอนุมัติให้ทำการทดลองตามข้อเสนอ แนะนั้น นับได้ว่าอาจารย์สงกรานต์ฯ เป็นผู้นำเอาการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาสนับ-สนุนในการปฏิบัติงานทาง นิติเวชศาสตร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันนี้วัตถุพยานซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจพระบรมศพ ตลอดจนลักษณะของผิวหนังที่เป็นบาดแผลจากการทดลองยิงรวมทั้งกะโหลกศีรษะ ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ใน พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานของอาจารย์สงกรานต์ ในกรณีดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คงจะเห็นความสำคัญในวิชานิติศาสตร์ที่อาจารย์สอนนักศึกษาในชั้นปีที่ 4 ขึ้นบ้าง จึงให้มีการสอบไล่วิชานี้ในปีการศึกษา 2489 แต่ก็มิได้มีการนำคะแนนสอบได้ไปรวมในการสอบ เพื่อปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตแต่อย่างใด ในระยะต่อมามีการสอนวิชานี้ให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ในภาคเรียนสุดท้าย เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และมีการสอบไล่โดยนำคะแนนไปรวมกับวิชารังสีวิทยา ต่อมาเมื่อมีการตั้งภาควิชานิติศาสตร์ขึ้นแล้ว ในการสอบไล่ถือว่าวิชานี้เป็นวิชาย่อยวิชาหนึ่ง เช่นเดียวกับจักษุวิทยาและรังสีวิทยา โดยที่ถ้านักศึกษาสอบตกในวิชาย่อยเหล่านี้สองวิชามีผลเท่ากับตกวิชาใหญ่ หนึ่งวิชา และนักศึกษาอาจถูกให้ปฏิบัติงานเพิ่มเติมในสาขาวิชาย่อยที่ตกนี้ด้วยก็ได้

สำหรับกรณีสวรรคตนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในภายหลัง ได้มีการสอบ สวนและดำเนินการฟ้องร้องมหาดเล็กห้องพระบรรทมเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว รัฐบาลยังได้สั่งให้อาจารย์สงกรานต์ ไปติดต่อกับศาสตราจารย์เคียท ซิมป์สัน (Keith Simpson) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางนิติเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงแห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลกาย มหาวิทยาลัยลอนดอนในปี พ.ศ.2491 เพื่อขอเชิญศาสตราจารย์ผู้นี้มาแสดงความเห็นในฐานะพยานผู้ชำนาญการพิเศษใน ศาล แต่เนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางประการ ศาสตราจารย์เคียท ซิมป์สันจึงมิได้มาเป็นพยานในศาลไทย

ในด้านการสอน หลังจากกรณีสวรรคตเป็นต้นมาอาจารย์สงกรานต์ ได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษานอกจากคณะแพทยศาสตร์มากมายหลายแห่ง โดยเริ่มไปสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจในปี พ.ศ.2493 และเมื่อมีการตั้งโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจขึ้น ในปี พ.ศ. 2495 อาจารย์สงกรานต์ก็ได้รับเชิญไปสอนเช่นกัน

ในปี พ.ศ.2498 อาจารย์สงกรานต์ ได้รับเชิญไปสอนให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การอบรมพนักงานอัยการและผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ.2499 สอนให้แก่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2500 สอนนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาปริญญาโทคณะสาธารณสุขศาสตร์ และต่อๆ มาก็มีสถาบันต่างๆ เชิญอาจารย์สงกรานต์ไปให้การสอนและอบรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดมา แม้จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของอาจารย์  อาจารย์ก็ยังได้รับเชิญไปให้การอบรมและสอนแก่นักศึกษา หรือผู้ประกอบวิชาชีพของสถาบันต่างๆ หลายแห่ง และเนื่องจากงานสอนทางนิติเวชศาสตร์เพิ่มมากขึ้น อาจารย์สงกรานต์ได้เลิกสอนปาราสิตวิทยาในปี พ.ศ. 2494

ในด้านการปฏิบัติงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับการสอน เพื่อจะได้มีวัตถุดิบมาประกอบการเรียนการสอน มีการฝึกฝนหาความชำนาญ ตลอดจนทำการค้นคว้าวิจัยควบคุมไปด้วยนั้น อาจารย์สงกรานต์ ได้เป็นผู้ริเริ่มในเรื่องนี้ โดยได้ทำบันทึกลงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2495 ถึงหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาเสนอให้โรงพยาบาลศิริราชรับศพที่มีคดีซึ่งเจ้า หน้าที่ตำรวจส่งมา โดยขณะนั้นโรงพยาบาลศิริราชไม่รับผู้ป่วยที่มีคดีไว้รักษาพยาบาล นอกจากรับเพียงบางรายเป็นครั้งคราวฉะนั้น ผู้ป่วยที่ตายในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนใหญ่จึงมิใช่ศพคดีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย (โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยคดีและศพเป็นประจำ ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง) คณะกรรม-การคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้อนุมัติในหลักการดังกล่าว นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในขณะนั้นจึงทำหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2495 ถึงอธิบดีกรมตำรวจแจ้งว่าทางโรงพยาบาลศิริราชยินดีจะช่วยเหลือกิจการด้าน ชันสูตรพลิกศพ ฯลฯ เกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ของทางการ และทางกรมตำรวจจึงได้ออกหนังสือแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนให้ทราบทั่วกัน ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2495 โดย พล.ต.ต.โชติ โชติชนาภิบาล รองอธิบดีเป็นผู้ลงนามแทนอธิบดี ในระยะแรกที่มีแจ้งความของกรมตำรวจออกไปแล้ว พนักงานสอบสวนยังส่งศพไปตรวจพิสูจน์ ที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงเล็กน้อย อาจารย์สงกรานต์ จึงได้ทำบันทึกถึงผู้บังคับการโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจ ในฐานะอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจ โดยขอให้ทางโรงเรียนหาวิธีการที่ให้มีการส่งศพไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชมาก ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาภาคปฏิบัติทั้งนักเรียนนายร้อยตำรวจและนักเรียน สืบสวนด้วย บันทึกฉบับนี้ของอาจารย์ คงจะมีผลให้ทางโรงเรียนสืบสวนสอบสวนขอความร่วมมือให้นักเรียนสืบสวนซึ่งมา จากพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ได้ให้ความร่วมมือในการส่งศพไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราช และตั้งแต่นั้นมาโรงพยาบาลก็ได้รับศพจากพนักงานสอบสวนส่งมาตรวจเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนทางโรงพยาบาลศิริราชเองก็คงจะเห็นความจำเป็น ที่ไม่อาจปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยที่มีคดีไว้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอีกต่อไป ได้ จึงได้มีระเบียบการรับชันสูตรผู้ป่วยมีคดีออกใช้ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496 จึงนับว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้บริการทางด้านนิติเวชศาสตร์โดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และในต้นปี พ.ศ.2496 นี้เองแผนกวิชาพยาธิวิทยาก็ได้รับแพทย์ประจำบ้านทางสาขานิติเวชวิทยาไว้ 1 คน นับว่างานนิติเวชศาสตร์ได้ขณะนั้นได้ถือกำเนิดเป็นสาขาหนึ่งในแผนกวิชาพยาธิ วิทยาโดยสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

เนื่องจากอาจารย์สงกรานต์ เห็นว่างานนิติเวชศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องอยู่กับกฎหมาย จึงได้ไปสมัครเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย จนสำเร็จได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ.2495 และในปีเดียวกันนี้ทางกรมตำรวจได้มีการก่อตั้งโรงพยาบาลตำรวจขึ้น อาจารย์สงกรานต์ได้รับแต่งตั้งจากกรมตำรวจให้เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ทางนิติเวชวิทยา และในปี พ.ศ.2496 ทางกรมตำรวจได้รับโอนนายแพทย์ถวัลย์ อาศนะเสน ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นอาจารย์โท แผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจเพื่อทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์ โดยได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตำรวจเอก และร้อยตำรวจเอกนายแพทย์ ถวัลย์ ได้ไปวางโครงการจัดตั้งแผนกนิติเวชวิทยาขึ้นในโรงพยาบาลตำรวจ

แผนกนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ ได้เริ่มทำการผ่าศพ เพื่อชันสูตรพลิกศพครั้งแรกในวันที่ 13 ตุลาคม 2496 แผนกนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจนี้ อาจารย์สงกรานต์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประจำกรมตำรวจได้ไปช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษา ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา

ในปี พ.ศ. 2499 อาจารย์สงกรานต์ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ให้พิจารณาการปฏิบัติงานทางนิติเวชศาสตร์เป็นสาขาเฉพาะในการประกอบโรคศิลปะ แผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม ซึ่งต่อมาคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้มีมติเมื่อ พ.ศ. 2500 ให้มีแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ขึ้น และ “นิติเวชวิทยา” ก็เป็นสาขาของแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง และได้มีการตั้งอนุกรรมการพิจารณาการขอเป็นแพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขาขึ้น สำหรับอนุกรรมการฯ ในสาขานิติเวชวิทยาประกอบด้วย

1.น.พ. สงกรานต์ นิยมเสน
2.น.พ. ภิรมย์ สุวรรณเตมีย์
3.น.พ. ทิพย์ นาถสุภา 
ต่อมา เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 และมีแพทยสภาขึ้น แพทยสภาได้มีหลักสูตรว่าด้วยการฝึกอบรม เพื่อเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ “นิติเวชศาสตร์” ก็เป็นสาขาหนึ่งที่มีการฝึกอบรมดังกล่าว จนปัจจุบันมีผู้ใดรับหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตรของแพทยสภาในสาขานี้หลายคน แล้ว

กิจการแพทย์ตำรวจและสถาบันนิติเวชวิทยา

กิจการแพทย์ตำรวจ ได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2441 รัฐบาลได้เปลี่ยนโรงพยาบาลสำหรับรักษาหญิงโสเภณีที่หลังวัดพลับพลาไชย ซึ่งสร้างปี พ.ศ.2440 มาเป็นโรงพยาบาลตำรวจสำหรับพลตระเวน เพื่อรักษาตำรวจที่เจ็บป่วย พิสูจน์บาดแผลและชันสูตรพลิกศพ เพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่างๆ โดยมี ม.อีริก เชนต์เจ สองสัน (ชาวอังกฤษ) มาเป็นเจ้ากรมกองตระเวน และได้ชวนแพทย์ชาวต่างชาติมาช่วยทำการรักษา ประชาชนทั่วไปจึงนิยมมากและเรียกกันว่า “โรงพยาบาลวัดโคก”    

ต่อมาจึงได้มีแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชมาร่วมคือ ร.ต.อ.ชุนแพทย์ พลตระเวน (ต่อมาเลื่อนเป็นหลวงบริบาลเวชกิจ) ร.ต.ท.ขุนเจน พยาบาล (เจน บุษปวณิช) ต่อมาได้เป็นหัวหน้าแผนกแพทย์และเลื่อนยศเป็น พ.ต.ท.หลวงเจน พยาบาล

พ.ศ.2458 กรมกรองตระเวนและกรมตำรวจภูธรรวมกันเป็น “กรมตำรวจ” โรง-พยาบาลวัดโคก ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลกลาง” และถูกโอนไปสังกัดกองสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจได้จัดตั้งสถานพยาบาลใหม่เรียกว่า “กองแพทย์กลางกรมตำรวจ” ตั้งอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง โดยมี พ.ต.ท.หลวงเจน พยาบาล เป็นหัวหน้ากองทำหน้าที่เช่นเดิม เมื่อต้องการรับรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็ส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลกลาง
พ.ศ.2477 กองแพทย์กลาง กรมตำรวจ ถูกลดฐานะเป็น “แผนกแพทย์กองกลาง กรมตำรวจ” เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและงบประมาณขณะนั้น
พ.ศ.2482 แผนกแพทย์กลาง ย้ายไปทำการอยู่ที่ตึกหลังใหม่ ภายในกรมตำรวจ ปัจจุบันนับเป็นที่ทำการของกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล
พ.ศ.2483 แผนกแพทย์กลางได้ถูกเปลี่ยนชื่อ แผนก 6 (แพทย์) กองปกครอง
พ.ศ.2490 แผนก 6 (แพทย์) ได้ถูกเปลี่ยนชื่อ แผนก 5 (แพทย์) กองปกครอง
พ.ศ. 2491 แผนก 5 (แพทย์) ถูกยกฐานะเป็น “กองแพทย์กรมตำรวจ” ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการจเรตำรวจ มี พ.ต.ท.ขุนทวี เวชกิจ (แม้น ทวีเวชกิจ) เป็นหัวหน้า ในระยะนี้เริ่มเป็นปึกแผ่นมากขึ้น แบ่งแผนกเป็นแผนกพยาบาล แผนกเวชภัณฑ์
13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 แผนกพยาบาล ได้รับการยกฐานะเป็น โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.พต.) ขึ้นต่อ “กองแพทย์” เปิดอย่างเป็นทางโดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น โดยมี พ.ต.อ.ก้าว ณ ระนอง เป็นนายแพทย์ผู้อำนายการ และ พ.ต.ท.แสวง วัจนสวัสดิ์ เป็นหัวหน้ากองแพทย์ ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก 
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 กรมตำรวจได้มีคำสั่งให้กองแพทย์ตำรวจ ไปขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ 
26 เมษายน พ.ศ. 2522 กองแพทย์ได้รับการยกฐานะเป็น “สำนักงานแพทย์ใหญ่ (พต.)” มีการแบ่งส่วนราชการภายในเป็น 4 กองบังคับการ และ 1 งาน คือ
กองบังคับการอำนวยการ (บก.อก.)

โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.)

วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ (วพ.)

สถาบันนิติเวชวิทยา (นต.)

งานโรงพยาบาลดารารัศมี (ดร.)

สำหรับงานด้านนิติเวชวิทยานั้น เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2496 โดยกรมตำรวจได้รับโอนนายแพทย์ถวัลย์ อาศนะเสน จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจเพื่อทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์ และวางโครงการจัดตั้งแผนกนิติเวชวิทยาขึ้นในโรงพยาบาลตำรวจ  โดยแผนกนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ ได้เริ่มทำการผ่าศพ เพื่อชันสูตรพลิกศพครั้งแรกในวันที่ 13 ตุลาคม 2496 

ในปี พ.ศ.2515 มีการกำหนดหน้าที่ของแผนกนิติเวชของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งขึ้นกับกองการแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ(ในขณะนั้น) มีหน้าที่ผ่าศพที่ตายในโรงพยาบาลตำรวจและออกชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายภายในเขต กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะกองการ-แพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ ขึ้นเป็นสำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ ในปี พ.ศ.2522 แผนกนิติเวชจึงยกระดับขึ้นมาเป็น สถาบันนิติเวชวิทยาจนปัจจุบัน